วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 02, 2554

Halal Food


ปัจจุบัน อาหารฮาลาล (Halal Food) เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมไทย มิใช่เพียงแต่ ชาวไทยมุสลิมที่จำเป็นต้องบริโภคอาหาร ฮาลาลเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการซึ่งต้องการผลิตอาหารฮาลาลจำหน่าย แก่ผู้บริโภคมุสลิมในประเทศ และผลิตเพื่อการส่งออกในตลาดโลกมุสลิมก็จำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง และดำเนินกระบวนการผลิตอาหาร ฮาลาลให้ถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม และระเบียบคณะกรรมการกลาง อิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับรองฮาลาล พ.ศ. 2544 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 โดยผ่านการตรวจสอบ และรับรองจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยหรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้วแต่กรณี และหากผู้ขอรับรองฮาลาล ประสงค์จะใช้ "เครื่องหมายรับรองฮาลาล" จะต้องรับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าว จากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก่อน (ข้อ 7, ข้อ 8 แห่งระเบียบฯ) ประกอบกับประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ตลาดโลกมุสลิมมีประชากรผู้บริโภคประมาณ 2,000 ล้านคน อาหารฮาลาล จึงเป็นช่องทางการตลาด (Market Channel) ที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยควรจะต้องเจาะตลาดอาหารฮาลาลเพื่อเพิ่ม ส่วนแบ่งการตลาด (Market Segmentation) ให้มากขึ้น รัฐบาลปัจจุบันจึงมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ฮาลาลเพื่อการส่งออกและได้แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการพัฒนาวัตถุดิบ การส่งเสริม ผู้ประกอบการ การแสวงหาตลาดและการพัฒนากลไกการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล ให้เป็นที่น่าเชื่อถือยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยอำนาจหน้าที่ในการตรวจรัรองและอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย รับรอง ฮาลาลเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรศาสนาอิสลามเท่านั้น คือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อาหารฮาลาลจึงเป็นเรื่องของความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วม กันของ 3 ฝ่าย คือ มุสลิมผู้บริโภค ผู้ประกอบการและประเทศชาติ กล่าวคือ
        1) มุสลิมได้บริโภคอาหารฮาลาลที่เชื่อได้ว่าถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม มีคุณค่าอาหารถูกสุขอนามัย ปลอดภัยจากสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลาม (ฮารอม) และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ
        2) ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยตระหนักถึงการผลิตอาหาร ฮาลาลที่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลามและปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับรองฮาลาลอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบริหารคุณภาพอาหารตามมาตรฐานฮาลาล
        3) ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรัฐบาลให้การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างครบวงจรทั้งในด้านการพัฒนาวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตของผู้ประกอบการตลาดและการปรับปรุงกลไกการรับรอง "มาตรฐานอาหารฮาลาล" ของ องค์กรศาสนาอิสลาม เพื่อส่งออกอาหารฮาลาลสู่ตลาดโลก


   ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ ฮาลาลและอาหารฮาลาล
        (1). ความสำคัญและความหมายของอาหารฮาลาล
 มุสลิมมีความศรัทธาว่า "ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ นบีมูฮัมมัดเป็นผู้สื่อ (รอซูล) ของอัลลอฮฺ" และมุสลิมมีความเชื่ออย่างมั่นใจว่า อัลลอฮฺ คือผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในจักรวาล ดังนั้น คำบัญชาของอัลลอฮฺ (อัล-กุรอาน) คำสอนและแบบอย่างของนบีมูฮัมมัด (ซุนนะห์) จึงเป็นเรื่องที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง กล่าวคือ ปฏิบัติในสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อห้าม (ฮารอม) ด้วยความ เต็มใจและยินดี
        ฮาลาล-ฮารอม ในอิสลามจึงมิได้หมายความเพียงการบริโภคอาหารเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงวิถีการดำเนิน ชีวิตในทุกด้าน เพราะอิสลามคือระบอบแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อาหารฮาลาล (Halal Food) จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมในการบริโภค ส่วนผู้ที่มิใช่มุสลิมหากบริโภคอาหารฮาลาลก็จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นเดียวกันเพราะอาหารฮาลาลจะต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามข้อบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามปราศจากสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) และมีคุณค่าทางอาหาร (ตอยยิบ) อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้มีบัญชาไว้ในบทที่ 2 วรรคที่ 168 แห่งคัมภีร์อัล-กุรอาน ความว่า
        “โอ้มนุษย์ จงบริโภคสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) ที่ดี (ตอยยิบ) จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดา ก้าวเดินของมาร (ซัยตอน) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า"
        และอัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้กำชับผู้ศรัทธาไว้ในบทที่ 2 วรรคที่ 172 ความว่า
        “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพของพวกเจ้าจากสิ่งที่ดีทั้งหลาย และจงขอบคุณ อัลลอฮฺเถิด เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ"
อาหารฮาลาลจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทั่วโลก
        ความหมายของคำ (ภาษาอาหรับ) ฮาลาล ฮารอม ตอยยิบ มัสบุฮฺ"
        ฮาลาล (Halal) แปลว่า อนุมัติ, อนุญาต
        ฮารอม (Haram) แปลว่า ห้าม ตรงข้ามกับคำว่า ฮาลาล
        ตอยยิบ (Toyyib) แปลว่า ดี มีคุณค่า ปราศจากอันตราย
        มัสบุฮฺ (Musbuh) แปลว่า เคลือบแคลงสงสัยว่าฮาลาลหรือฮารอม
        นบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) ได้สอนว่า ฮาลาล คือ สิ่งที่อัลลอฮฺทรงอนุมัติให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในคัมภีร์ของพระองค์ และฮารอม คือสิ่งที่พระองค์ ได้ทรงห้ามไว้ และที่เกี่ยวกับที่พระองค์ทรงนิ่งเงียบนั้น พระองค์ได้ทรงอนุมัติให้เป็นความโปรดปรานแก่ท่าน” “สิ่งฮาลาลย่อมชัดแจ้งและสิ่งฮารอมก็ชัดแจ้ง แต่ระหว่างทั้งสองดังกล่าวมีสิ่งที่ไม่ชัดเจนอยู่ ซึ่งคนส่วนมากไม่รู้
        บรรดานักวิชาการอิสลามได้ให้คำนิยามว่า ฮาลาล คือ สิ่งที่อัลลอฮฺและรอซูล (นบีมูฮัมมัด) อนุมัติ ฮารอม คือ สิ่งที่อัลลอฮฺและรอซูลทรงห้าม มัสบุฮฺ คือ สิ่งที่ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยและระบุไม่ได้ว่าฮาลาล หรือ ฮารอม จนกว่าจะวินิจฉัยให้ชัดเจน อย่างใดอย่างหนึ่ง
        “อาหารฮาลาล (Halal Food) หมายถึง อาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลาม ให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้
(2). หลักพื้นฐานของฮาลาล-ฮารอม ตามข้อบัญญัติอิสลาม
        1. การอนุมัติ (Halal) และการห้าม (Haram) เป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น บรรดานักกฎหมายอิสลามแน่ใจว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ.) พระองค์เดียวเท่านั้นมีสิทธิอนุมัติหรือห้ามสิ่งใด โดยผ่านคัมภีร์ของพระองค์และหรือผ่านการพูดของรอซูล (ผู้สื่อสารของพระองค์) บรรดานักกฎหมายอิสลามจะได้อธิบายสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กำหนดว่า สิ่งใดฮาลาล หรือฮารอม ด้วยข้อความในคัมภีร์อัล-กุรอานตอนหนึ่งว่า
        “พระองค์ได้ทรงจำแนกอย่างแจ่มแจ้งแก่สูเจ้าแล้วว่า อันใดที่พระองค์ได้ทำให้เป็นสิ่งฮารอมสำหรับสูเจ้า” (6:119)
        “และจงอย่ากล่าวตามที่ลิ้นของสูเจ้าอ้างมุสาว่า นี่เป็นสิ่งอนุมัติ (ฮาลาล) และนี่เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) เพื่อสูเจ้าจะกุการมุสาต่ออัลลอฮฺแท้จริงบรรดาผู้กุการมุสาต่ออัลลอฮฺไม่เจริญ” (16:116)
        อิมามซาฟีอี ได้เล่าว่า อบูยูซุฟ หัวหน้าผู้พิพากษา (กอฎี) ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่งของอบูฮะนีฟะฮฺ ได้เล่าว่า ฉันรู้ว่า บรรดาผู้ทรงความรู้ของเราได้หลีกเลี่ยงการกล่าวว่านี่ฮาลาลและนั่นฮารอม นอกจากสิ่งที่ พวกท่านทั้งหลายได้พบอย่างชัดเจนแล้วว่า ได้มีการกล่าวไว้ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ โดยไม่ต้องใช้การตีความใดๆ” (ในหนังสืออัล-อุมม์ เล่ม 7 หน้า 317)
        2. การห้ามสิ่งต่าง ๆ นั้น เนื่องมาจากความไม่บริสุทธิ์และการเป็นอันตรายของมัน อิสลามห้ามสิ่งต่าง ๆ ก็เพราะว่ามันไม่บริสุทธิ์และมีพิษภัย สิ่งใดที่เป็นอันตราย สิ่งนั้นก็ฮารอม แต่สิ่งใด เป็นประโยชน์สิ่งนั้นก็ฮาลาล ถ้าหากสิ่งใดมีพิษภัยหรืออันตรายมากกว่าประโยชน์สิ่งนั้นก็ฮารอม
        หลักการนี้ได้อธิบายไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอานเกี่ยวกับน้ำเมาและการพนัน ความว่า
        “พวกเขาถามเจ้าเกี่ยวกับสุราและการพนัน จงกล่าวว่า ในทั้งสองนั้นมีบาปหนัก และมีคุณบ้างแต่บาปของมันนั้นมากกว่า” (2:219)
        โดยเหตุผลเดียวกัน ถ้าหากมีใครถามว่าอะไรคือสิ่งฮาลาลในอิสลาม คำตอบก็คือ สิ่งที่ดีทั้งหลาย อัลลอฮฺ ได้ทรงกล่าวไว้มีความว่า
        “เขาทั้งหลายถามเจ้าอันใดที่ ฮาลาลแก่พวกเขาจงกล่าวเถิดที่ฮาลาลแก่ พวกท่านคือสิ่งที่ดีทั้งหลาย” (5:4)
        และวันนี้สิ่งที่ดีทั้งหลายได้ถูกทำให้ เป็นที่ฮาลาลแก่สูเจ้า” (5:5)
3. สิ่งที่ฮาลาลนั้นเป็นที่เพียงพอสำหรับความจำเป็น แต่สิ่งที่ฮารอมนั้นเป็นที่เกินความต้องการ อิสลามจะห้ามแห่งเพียงสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ในขณะเดียวกันอิสลามได้จัดเตรียมทางเอกที่ดีกว่าและสะดวก ง่ายดายกว่าให้แก่มนุษย์ เพราะอัลลอฮฺมิได้ทรงปรารถนาที่จะสร้างความยุ่งยากลำบากให้แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่พระองค์ทรงประสงค์ความง่าย ความดี ทางนำ และความเมตตาสำหรับมนุษย์ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงกล่าวไว้ว่า
        “อัลลอฮฺทรงปรารถนาที่จะให้กระจ่างแก่สูเจ้าและชี้แจงสูเจ้าซึ่งทางทั้งหลายของบรรดาก่อนหน้าสูเจ้า และ ทรงหันยังสูเจ้าโดยปราณี และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ ... อัลลอฮฺทรงปรารถนาที่จะผ่อนปรนสูเจ้า เพราะมนุษย์ถูกบังเกิดมาอ่อนแอ” (กุรอาน 4:26-28)
        4. อะไรก็ตามที่นำไปสู่ฮารอม สิ่งนั้นก็ฮารอมด้วยตัวของมันเอง อิสลามถือว่า สิ่งใดเป็นที่ต้องห้าม (ฮารอม) แล้ว อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่สิ่งนั้น ก็เป็นที่ต้องห้ามด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะอิสลามต้องการปิดหนทางทั้งหมดที่จะนำไปสู่สิ่งฮารอม เช่น การดื่มสิ่งมึนเมา ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ไม่เพียงแต่ประณามผู้ดื่มเท่านั้น แต่ยังได้ประณามผู้ผลิต ผู้ให้บริการและผู้เกี่ยวข้องด้วย หรือในกรณี ห้ามเรื่องดอกเบี้ย ท่านศาสดาไม่เพียงแต่ประณามผู้รับเท่านั้น แต่ยังได้ประณามผู้จ่าย ผู้เขียนสัญญา และผู้ เป็นพยานด้วย ดังนั้น อะไรก็ตามที่มีส่วนช่วยในการทำสิ่งฮารอม สิ่งนั้นก็ฮารอมด้วย และใครก็ตามที่ช่วยผู้อื่นในเรื่อง นี้ก็จะต้องมีส่วนรับบาปด้วย
        5. ไม่อนุญาตให้เอาสิ่งฮารอมมาเป็นของฮาลาล การเรียกสิ่งที่ฮารอมว่าเป็นสิ่งฮาลาล โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในขณะที่เนื้อแท้ดั้งเดิมของมันยังคงอยู่นั้น เป็นวิธีการหลอกลวงที่สกปรกทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือรูปแบบนั้นไม่มีผลประการใด ตราบที่เนื้อแท้ ของมันยังไม่ เปลี่ยนแปลง คนกลุ่มหนึ่งจะทำให้การดื่มสิ่งมึนเมาของประชาชนเป็นที่ฮาลาลโดยการให้ชื่อมันเป็นอย่างอื่น” (รายงาน โดยอะหมัด) และ เวลาหนึ่งจะมาถึง เมื่อประชาชนกินดอกเบี้ยแล้วเรียกมันว่า การค้า” (รายงานโดยบุคอรี และมุสลิม)
6. เจตนาดีมิได้ทำให้สิ่งฮารอมเป็นที่ยอมรับได้
        อิสลามให้ความสำคัญในเรื่องความมีเกียรติของความรู้สึก เป้าหมายและความตั้งใจที่บริสุทธิ์ กิจวัตร ประจำวันและกิจการทางโลกจะต้องแปรสภาพเป็นการแสดงความเคารพภักดีและเสียสละเพื่ออัลลอฮฺด้วยเจนาที่ดี ดังนั้น ถ้าหากใครบริโภคอาหารโดยมีเจตนาเพื่อยังชีพและเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ร่างกายเพื่อที่จะสามารถ ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ที่มีต่อพระผู้สร้างของเขาและแก่มนุษย์แล้ว การกินการดื่มของเขาก็ถือว่าเป็นการแสดงความ เคารพภักดีและการเสียสละต่ออัลลอฮฺ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ มีความว่า
        “การกระทำทั้งหลายจะถูกตัดสินโดยเจตนา และทุกคนจะได้รับผลตอบแทนตามเจตนาของเขา” (รายงาน โดยบุคอรี) และ ใครก็ตามที่ปรารถนาในสิ่งที่อนุมัติจากโลกโดยการรักษาตัวเองให้ห่างพ้นจากบาป โดยการ ทำงานเพื่อครอบครัวและเอาใจใส่เพื่อนบ้านของเขา เขาก็จะได้พบกับพระผู้เป็นเจ้าของเขาด้วยใบหน้าที่นวลสว่าง เหมือนจันทร์เต็มดวง” (รายงานโดยเฎาะบะรอนี)
        แต่ถ้าหากใครสะสมในสิ่งที่ได้มาด้วยความไม่ถูกต้อง(ฮารอม) แม้ว่าเขามีเจตนาดีในการบริจาคหรือทำดี ก็จะไม่มีผลใดๆในความดี ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า อัลลอฮฺนั้นดี และไม่ยอมรับสิ่งใดนอกจากความดี และอัลลอฮฺได้ทรงบัญชาบรรดาผู้ศรัทธาเช่นเดียวกับที่ทรงบัญชารอซูลทั้งหลายของพระองค์ว่า
        “โอ้บรรดารอซูล จงกินสิ่งที่ดีและทำให้สิ่งที่ถูกต้อง ฉันรู้ในสิ่งที่เจ้าทำ
        นอกจากนี้ ท่านศาสดาฯยังได้กล่าวว่า ชายคนหนึ่งเดินทางไกล สกปรกและเปรอะเปื้อนด้วยฝุ่น (เพื่อทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ หรือ สิ่งอื่นทำนองนี้) ยกมือขึ้นสู่ท้องฟ้า (และกล่าวว่า) โอ้พระผู้อภิบาลขณะที่กินสิ่งฮารอม ดื่มสิ่งที่ฮารอม สวมใส่สิ่งที่ฮารอม และเลี้ยงตัวเองด้วยวิธีการ ฮารอมแล้วอย่างนี้ คำวิงวอนของเขาจะถูกรับได้อย่างไร” (รายงานโดยมุสลิม และติรมิซี จากอบูฮุรอยเราะฮ์)
        “ถ้าหากใครสะสมทรัพย์สินด้วยวิธีการฮารอมแล้วทำทานจากสิ่งที่เขาสะสมความดีจะไม่มีสำหรับเขาและภาระแห่งบาปจะยังดำรงอยู่” (รายงานโดยคุซัยบะฮฺอิบนิฮิบมานและฮากิม)
        “ถ้าหากใครคนหนึ่งแสวงหาทรัพย์สินโดยวิธีการฮารอมและให้ทาน อัลลอฮฺจะไม่ยอมรับถ้าหากว่าเขาใช้ จ่ายออกไป มันก็จะไม่มีความเจริญและถ้าหากเขาทิ้งมันไว้ (หลังจากที่เขาตาย) มันก็จะเป็นฟืนของเขาในไฟนรก ความจริงแล้ว อัลลอฮฺจะไม่ลบล้างการกระทำที่เลวด้วยการกระทำที่เลวอีกอย่างหนึ่งและพระองค์จะทรงลบล้าง การกระทำที่เลวโดยการทำดี สิ่งที่ไม่สะอาดนั้นไม่สามารถชำระล้างสิ่งที่ไม่สะอาดอีกสิ่งหนึ่งได้” (รายงานโดย อะหมัดและคนอื่นๆจากอิบนุมัสอู๊ด)
        7. สิ่งที่ฮารอมเป็นที่ต้องห้ามสำหรับทุกคน ตามกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะห์) กฎที่เกี่ยวกับสิ่งฮารอมจะถูกนำไปใช้อย่างสากล สิ่งใดที่อัลลอฮฺอนุมัติ (ฮาลาล) ก็คือสิ่งที่ได้รับอนุมัติสำหรับมนุษยชาติ และสิ่งใดที่อัลลอฮฺทรงห้าม (ฮารอม) ก็เป็นที่ต้องห้ามสำหรับ มนุษย์ทุกคน เพราะอัลลอฮฺเป็นพระเจ้าของมนุษย์ทุกคน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ยืนยันถึงการใช้กฎต่างๆ นี้อย่างหนักแน่นด้วยการประกาศความว่า ฉันขอสาบานด้วยนามของอัลลอฮฺ ถ้าหากฟาติมะฮฺลูกสาวของมุฮัมมัดลักขโมย ฉันจะตัดมือเขาเอง” (รายงานโดยบุคอรี)
        8. การห้ามสิ่งที่ฮาลาล และการอนุมัติสิ่งที่ฮารอมเท่ากับการทำชิริก ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
        “ฉันถูกส่งมากับสิ่งที่ตรงและง่าย” (รายงานโดยอะหมัด)
        และท่านศาสดาได้กล่าวไว้ในหะดิษกุดซีว่า อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ มีความว่า ฉันได้สร้างบ่าวของฉัน (มนุษย์) ในลักษณะที่ซื่อตรง แต่ต่อมาเหล่ามารซาตานได้มาหาพวกเขา แล้วนำ พวกเขาให้หลงทางไปจากศาสนาของพวกเขา และได้ห้ามพวกเขาในสิ่งที่ฉันอนุมัติแก่พวกเขา และบัญชาพวกเขา ให้ตั้งภาคีร่วมกับฉัน โดยฉันไม่ได้มอบอำนาจใดๆให้” (รายงานโดยมุสลิม)
        อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กล่าวไว้ ความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาจงอย่าทำสิ่งดีทั้งหลายที่อัลลอฮฺได้ทรงอนุมัติ (ฮาลาล) ให้แก่สูเจ้าเป็นของต้องห้าม (ฮารอม) และจงอย่าละเมิด แท้จริงอัลลอฮฺมิทรงรักผู้ละเมิดและจงบริโภคจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงให้เครื่องยังชีพแก่สูเจ้าซึ่งสิ่งที่อนุมัติและที่ดี และจงสำรวมตนต่อ อัลลอฮฺ ในพระองค์ที่สูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” (กุรอาน 5:87-88)
   9. สรรพสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นที่อนุมัติ (ฮาลาล) ยกเว้นสิ่งที่อัลลอฮฺและแบบอย่างคำสอนของศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ห้ามไว้อย่างชัดเจน
        อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงกล่าวไว้ มีความว่า พระองค์ คือผู้ทรงบันดาลสำหรับสูเจ้าซึ่งสิ่งทั้งปวงในแผ่นดิน” (กุรอาน2:29) 
        “และพระองค์ได้ทรงทำให้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินเป็นประโยชน์แก่สูเจ้า” (กุรอาน 45:13)
        “สูเจ้าไม่คิดดอกหรือว่า อัลลอฮฺได้ทรงทำให้อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินเป็นประโยชน์แก่สูเจ้า และ พระองค์ได้ทรงประทานความโปรดปรานของพระองค์โดยครบครันแก่สูเจ้าทั้งที่เปิดเผยและซ่อนเร้น” (กุรอาน31:20)
  ศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ มีความว่า สิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทำให้เป็นที่ถูกต้องในคัมภีร์ของพระองค์ คือสิ่งที่ ฮาลาล และสิ่งที่พระองค์ได้สั่งห้าม คือ ฮารอม และเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ทรงนิ่งเงียบนั้นเป็นที่ได้รับอนุญาตในฐานะความโปรดปรานของพระองค์ ดังนั้น จงรับความโปรดปรานของพระองค์ เพราะพระองค์นั้นไม่ทรงลืมสิ่งใด หลังจากนั้น ท่านศาสดาได้อ่านคัมภีร์ อัล-กุรอานที่มีความหมายว่า พระผู้อภิบาลของสูเจ้ามิทรงลืม” (19:64)
        “ฮาลาล คือสิ่งที่อัลลอฮ ฺ (ซ.บ.) ได้อนุมัติให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในคัมภีร์ของพระองค์ ฮารอม คือ สิ่งที่พระองค์ได้ทรงห้ามไว้ และที่เกี่ยวกับที่พระองค์ทรงนิ่งเงียบนั้นพระองค์ได้ทรงอนุมัติให้เป็นความโปรดปราน แก่ท่าน”(รายงานโดยติรมีซี และอิบนุนาญะฮ์)
        10. สิ่งใดที่สงสัยให้หลีกเลี่ยง เป็นความเมตตาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ต่อมนษย์ชาติที่พระองค์มิทรงทิ้งให้มนุษย์อยู่ในความโง่เขลาเกี่ยวกับเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกอนุมัติ (ฮาลาล) และสิ่งที่ถูกห้าม (ฮารอม) เพราะพระองค์ได้ทรงทำให้มนุษย์ได้รู้อย่างชัดแจ้งว่า อะไรฮาลาล อะไร ฮารอม
        ดังที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ ความว่า พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้อธิบายให้แก่เจ้าถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำให้เป็น ฮารอมสำหรับสูเจ้าไว้แล้ว” (กุรอาน 6:119)
        ดังนั้น มนุษย์จึงต้องทำในสิ่งที่ได้รับการอนุมัติ (ฮาลาล) และต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ต้องห้าม (ฮารอม) แต่อย่างไรก็ตามระหว่างสิ่งฮาลาลที่ชัดแจ้งกับสิ่งฮารอมที่ชัดเจนนั้นมีพื้นที่สีเทาอยู่ ซึ่งทำให้บางคนไม่สามารถ ตัดสินได้ว่าสิ่งใดที่ได้รับการอนุมัติหรือสิ่งใดที่ถูกห้าม เกี่ยวกับเรื่องนี้อิสลามถือว่า เป็นความดีอย่างหนึ่งสำหรับ มุสลิมที่จะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่สงสัย เพื่อทำให้ตัวเองห่างพ้นจากการทำสิ่งที่ฮารอม
        ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ความว่า ฮาลาลและฮารอมนั้นเป็นที่แจ้งชัด แต่ระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ มีสิ่งที่น่าสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่คนไม่รู้ว่ามัน ฮาลาลหรือฮารอม ผู้ที่หลีกเลี่ยงมันเพื่อปกป้องศาสนาและเกียรติของเขา คือ ผู้ที่ปลอดภัย ในขณะที่ถ้าใครเข้า ไปมีส่วนกับมัน เขาผู้นั้นอาจจะทำสิ่งที่ฮารอม เช่น คนที่ปล่อยให้สัตว์ของตนกินหญ้าอยู่ใกล้กับ หิมา (ทุ่งหญ้า ที่สงวนไว้สำหรับสัตว์ของกษัตริย์ ซึ่งสัตว์ของคนอื่นเข้าไปไม่ได้) แล้วอาจมีสัตว์ของตนบางตัวหลงเข้าไปในนั้น แน่นอน กษัตริย์ทุกคนจะมีหิมาของตนเอง และมีหิมาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) นั้นคือ สิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไว้” (รายงานโดยบุคอรี มุสลิมและคนอื่นๆ)
        11. ความจำเป็นคือสิ่งกำหนดข้อยกเว้น แม้ว่าอิสลามจะเข้มงวดในสิ่งฮารอม แต่อิสลามก็มิได้ลืมความจำเป็นฉุกเฉินของชีวิต ในสถานการณ์ที่ จำเป็นอิสลามได้อนุญาตให้มุสลิมกินอาหารที่ต้องห้ามได้ในจำนวนที่พอจะทำให้ตัวเองรอดพ้นจากความตาย
        อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กล่าวไว้ในกรณีข้อกำหนดอาหารต้องห้ามซึ่งได้แก่สัตว์ที่ตายเอง เลือด และเนื้อสุกร ความว่า
        “...ถ้าหากผู้ใดตกอยู่ในที่คับขัน มิใช่เจตนาขัดขืนและไม่ใช่ละเมิด ดังนั้นไม่มีบาปแก่เขา แท้จริง อัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (กุรอาน 2:173)
        (3). สิ่งสกปรก (นะยิส) และการชำระล้างให้สะอาดตามบัญญัติศาสนาอิสลาม
   3.1 น่ายิส คือสิ่งสกปรกอันเป็นที่น่ารังเกียจตามที่ศาสนาอิสลามกำหนดไว้ เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ โลหิต น้ำเหลือง น้ำหนอง อาเจียน สุนัข สุกร ซากสัตว์ที่มิได้เชือด เป็นต้น


แหล่งที่มา  http://muslimchiangmai.net

ไม่มีความคิดเห็น: